โรคไฟลามทุ่ง

โรคนี้เป็นโรคระบาดที่สามารถติดต่อถึงคนได้ ความรุนแรงของโรคนี้อาจจะมีผลเนื่องจากพันธุกรรม คุณค่าของอาหารที่ใช้เลี้ยง การสุขาภิบาล อุณหภูมิของสภาพแวดล้อม หรือฤดูกาล


สาเหตุและอาการของโรค
เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเชื้อโรคตัวนี้จะเข้าสู่ร่างกายสุกรได้โดยการกินนํ้าและอาหารที่มีเชื้อโรคตัวนี้ปนอยู่ หรือโดยการสัมผัสกับสุกรป่วยโดยตรง และเมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายสุกรแล้ว จะใช้เวลาในการฟักโรคนานประมาณ 3-4 วัน สุกรก็จะเริ่มแสดงอาการป่วยของโรคให้เห็น

อาการที่พบเห็นได้มีอยู่ 4 แบบด้วยกัน
1. แบบแรก สุกรป่วยจะแสดงอาการแบบฉับพลัน และอาจตายได้โดยไม่แสดงอาการป่วยให้เห็น อาการที่พบได้คือ ไข้สูง 104-108 องศาฟาเรนไฮต์ซึม เบื่ออาหาร หนาวสั่น นอนสุมกันตาแดง ไอ มีขี้มูกขี้ตา ท้องผูกตามด้วยอาการท้องเสียอย่างรุนแรง (บางตัวอาจพบอาการอาเจียน)
2. แบบที่สอง สุกรป่วยจะแสดงอาการที่ผิวหนัง คือจะพบอาการบวมที่ผิวหนังซึ่งมีลักษณะคล้ายรูปข้าวหลามตัด หรือเป็นหย่อมสีแดงจนถึงสีม่วงที่บริเวณท้อง ต้นขา และลําตัว (สุกรป่วยที่ฟื้นจากโรคจะพบว่าผิวหนังที่มีรอยโรคจะลอก)
3. แบบที่สาม สุกรป่วยจะแสดงอาการที่ข้อขา คือจะพบอาการเดินขากระแผลกหรือเดินในลักษณะขาไม่สัมพันธ์กัน ซึ่งเป็นผลเนื่องจากข้ออักเสบโดยเฉพาะที่ข้อเข่าหน้าและเข่าหลัง
4. แบบที่สี่ สุกรป่วยจะตายแบบทันทีหรืออาจพบอาการบวมที่ปลายจมูก หูและส่วนอื่นของร่างกาย
 การป้องกัน
โรคไฟลามทุ่ง สามารถป้องกันได้โดย
1. มีการกักโรคและตรวจโรคสุกรใหม่
2. มีการจัดการควบคุมโรคที่เข้มงวด
3. มีการเลี้ยงดูและอาหารที่ดี
4. มีการสุขาภิบาลที่ดี
 การรักษาโรค
โรคไฟลามทุ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ยาที่จะใช้รักษาโรคนี้ได้แก่ ยาปฏิชีวนะในกลุ่มของยาเพ็นนิซิลิน และยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์ทําลายเชื้อได้กว้าง